วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2555

การสวดมนต์พระปริตร



พระปริตร
ช่วงสงกรานต์เวียนมาถึง คนไทยแท้แต่โบราณ นิยมทำบุญแก่ชุมชน หรือบ้านเรือนที่ตนอาศัยอยู่ เพื่อความเป็นศิริมงคล คุ้มครองป้องกันภัย ให้แก่ตนและชุมชนของตน หลังจากนั้นก็จะมีการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ และสังสรรค์กันในหมู่คณะเพื่อสร้างความรักความผูกพันระหว่างกันและกัน

โดยทั่วๆไป จะนิยมนิมนต์พระสงฆ์ มาเจริญพระพุทธมนต์ ในบทพระปริตร ดังรายละเอียดดังนี้

การสวดมนต์ สวดพระปริตร ถ้าได้ทำเป็นประจำจะเกิดอานุภาพปรากฎให้เห็นกับผู้ที่ปฏิบัติมากมาย ที่ได้เล่าสู่กันฟัง

การสวดมนต์เป็นการอบรมจิตด้วยการระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยคือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ พร้อมทั้งแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ เป็นกิจของชาวพุทธที่ทำกันอยู่เป็นประจำ เพื่อเพิ่มพูนภาวนาบารมี และขัดเกลากิเลสให้ลดน้อยลงเท่าที่จะกระทำได้

อัญมณีย่อมมีคุณค่าเหมาะแก่ผู้มีฐานะ พระรัตนตรัยก็เช่นเดียวกัน ย่อมเหมาะแก่ผู้ที่มีใจอันประเสริฐ บุคคลผู้สวดมนต์เป็นนิตย์จะมีใจเบิกบาน ใบหน้าผ่องใส อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุจิตใจได้ดี และมีสง่าราศรี เป็นที่เคารพนับถือของปวงชน

วิธีสวดพระปริตรนั้น ต้องสวดคำบาลีมิให้เพี้ยน สวดคำแปลควบคู่กับคำบาลีไปด้วย เพื่อน้อมใจไปในความหมายแห่งพระพุทธพจน์

การสวดมนต์เป็นประเพณีที่สืบเนื่องกันมาช้านานของชาวพุทธในหลายประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และเจริญเมตตา จัดได้ว่าเป็นพื้นฐานของการเจริญวิปัสสนาอันเป็นแก่นสารของพระพุทธศาสนา ดังคำกล่าวว่า “สวดมนต์เป็นยาทา ภาวนาเป็นยากิน” คนสมัยก่อนนิยมสวดมนต์ด้วยบทสวดที่เรียกว่า เจ็ดตำนาน และสิบสองตำนาน แต่ในปัจจุบัน นิยมสวดมนต์ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔

บทสวดมนต์เจ็ดตำนานและสิบสองตำนานมีชื่อเดิมว่า “พระปริตร” แปลว่า “เครื่องคุ้มครอง” เป็นที่นิยมสาธยายในหมู่ชาวพุทธตั้งแต่สมัยพุทธกาลจวบจนถึงปัจจุบัน เพื่อความมีสิริมงคล และเพิ่มพูนภาวนาบารมี

พระปริตรมีปรากฏในพระไตรปิฏกคือ

๑. เมตตปริตร มีในขุททกปาฐะ และสุตตนิบาต
๒. ขันธปริตร มีในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต วินัยปิฏก จุฬวรรค และชาดก ทุกนิบาต
๓. โมรปริตร มีในชาดก ทุกนิบาต
๔. อาฏานาฏิยปริตร มีในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
๕. โพชฌังคปริตร มีในสังยุตตนิกาย มหาวรรค
๖. รัตนปริตร มีในขุททกปาฐะ และสุตตนิบาต
๗. วัฏฏกปริตร มีในชาดก เอกนิบาต และจริยาปิฏก
๘. มังคลปริตร มีในขุททกปาฐะ และสุตตนิบาต
๙. ธชัคคปริตร มีในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค
๑๐. อังคุลิมาลปริตร มีในมัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์


คุ้มครองผู้สวด

ในคัมภีร์อรรถกถามีเรื่องอานุภาพพระปริตรสามารถคุ้มครองผู้สวดได้ เช่น เรื่องพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นนกยูงทอง พระองค์ได้หมั่นสาธยายโมรปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระพุทธเจ้า ทำให้แคล้วคลาดจากบ่วงที่นายพรานดักไว้ และเรื่องในสมัยพุทธกาล มีภิกษุห้าร้อยรูปไปเจริญภาวนาในป่าได้ถูกเทวดารบกวน จนกระทั่งปฏิบัติธรรมไม่ได้ ต้องเดินทางกลับ เมืองสาวัตถี ในขณะนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเมตตปริตรที่กล่าวถึงการเจริญเมตตา ครั้นภิกษุเหล่านั้นจึงปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก

โบราณจารย์ได้รวบรวมอานิสงส์ของพระปริตรไว้ถึง ๑๒ ประการคือ
๑. เมตตปริตร ทำให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทพพิทักษ์รักษา ไม่มีภยันตราย จิตเป็นสมาธิง่าย ใบหน้าผ่องใส มีสิริมงคล ไม่หลงสติในเวลาเสียชีวิต และเป็นพรหมเมื่อบรรลุเมตตาฌาน
๒. ขันธปริตร ป้องกันภัยจากอสรพิษ และสัตว์ร้ายอื่นๆ
๓. โมรปริตร ป้องกันภัยจากผู้คิดร้าย
๔. อาฏานาฏิยปริตร ป้องกันภัยจากอมนุษย์ ทำให้มีสุขภาพดี และมีความสุข
๕. โพชฌังคปริตร ทำให้มีสุขภาพดี มีอายุยืน และพ้นจากอุปสรรคทั้งปวง
๖. ชัยปริตร ทำให้ประสบชัยชนะ และมีความสุขสวัสดี
๗. รัตนปริตร ทำให้ได้รับความสวัสดี และพ้นจากอุปสรรคอันตราย
๘. วัฏฏกปริตร ทำให้พ้นจากอัคคีภัย
๙. มังคลปริตร ทำให้เกิดสิริมงคล และปราศจากอันตราย
๑๐. ธชัคคปริตร ทำให้พ้นจากอุปสรรคอันตราย การตกจากที่สูง
๑๑. อังคุลิมาลปริตร ทำให้คลอดบุตรง่าย และป้องกันอุปสรรคอันตราย
๑๒. อภยปริตร ทำให้พ้นจากภัยพิบัติ และไม่ฝันร้าย


คุ้มครองผู้ฟัง
อานุภาพของพระปริตรยังสามารถคุ้มครองผู้ฟังได้อีกด้วย คัมภีร์อรรถกถากล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาล เมื่อเมืองเวสาลีประสบภัย ๓ อย่างคือ ความอดอยากแร้นแค้น การเบียดเบียนจากอมนุษย์ และการแพร่ของโรคระบาด พระพุทธเจ้าได้รับสั่งให้พระอานนท์สวดรัตนปริตรที่กล่าวถึงคุณของพระรัตนตรัย ภัยดังกล่าวในเมืองนั้นจึงสงบลง
ในคัมภีร์ยังกล่าวไว้ว่า เด็กคนหนึ่งจะถูกยักษ์จับกินภายใน ๗ วัน พระพุทธเจ้าจึงทรงแนะนำให้ภิกษุสวดพระปริตรตลอดเจ็ดคืน และพระองค์ได้เสร็จไปสวดด้วยพระองค์เอง พอคืนที่แปด เด็กนั้นก็สามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติของอมนุษย์นั้นได้ มีอายุถึง ๑๒๐ ปีมารดาจึงตั้งชื่อว่า อายุวัฑฒนกุมาร แปลว่า เด็กผู้มีอายุยืน เพราะรอดพ้นจากอันตรายดังกล่าว

การสวดพระปริตรต้องปฏิบัติอย่างไร?
พระปริตรจะมีอานุภาพมาก เมื่อผู้สวดพระปริตรเพียบพร้อมด้วยหลัก ๓ ประการคือ
๑. ต้องตั้งจิตใจให้มีเมตตา โดยมุ่งประโยชน์แก่ผู้ฟัง
๒. ต้องสวดไม่ผิด ออกเสียงพยัญชนะ สระ ตัวสะกดไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม และรู้ความหมายของบทสวด
๓. ไม่เคยทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่ามารดา บิดา ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต และทำสังฆเภท
นอกจากนี้แล้ว ยังต้องไม่มิจฉาทิฏฐิ เห็นผิดว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี มีความเชื่อมั่น
ในอานุภาพพระปริตรจริง สามารถคุ้มครองผู้ฟังได้

บทสวดพระปริตรมีอะไรบ้าง?
โบราณจารย์ได้จำแนกพระปริตรออกเป็น ๒ ประเภทคือ
- เจ็ดตำนาน มี ๗ พระปริตรคือ
- ๑. มังคลปริตร
- ๒. รัตนปริตร
- ๓. เมตตปริตร
- ๔. ขันธปริตร
- ๕. โมรปริตร
- ๖. ธชัคคปริตร
- ๗. อาฏานาฏิยปริตร

- สิบสองตำนาน มี ๑๒ พระปริตร โดยเพิ่มจากเจ็ดตำนานอีก ๕ พระปริตรคือ
๑. วัฏฏกปริตร
๒. อังคุลิมาลปริตร
๓. โพชฌังคปริตร
๔. อภยปริตร
๕. ชัยปริตร
พระปริตรยังปรากฏอยู่ในคัมภีร์มิลินทปัญหา วิสุทธิมรรค และอรรถกถาต่าง ๆ โดยเพิ่ม อิสิคิลิปริตร เป็นอีกหนึ่งปริตรด้วย
พระปริตรที่ปรากฏในบทสวดมนต์ไทย ฉบับปัจจุบันมี ๑๒ ปริตร อิสิคิลิปริตรไม่ได้จัดไว้ในบทสวดมนต์ เพราะเป็นพระปริตรที่กล่าวถึงชื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่เหมือนพระปริตรอื่นที่แสดงคุณของพระรัตนตรัย หรือเมตตาภาวนา

พระปริตรที่ควรสวดเสมอ ๆ

ผู้มีเวลาน้อย ควรสวดพระปริตรที่สั้นและสำคัญ จึงควรสวดพระปริตร ๔ บทแรก คือ เมตตปริตรขันธปริตร โมรปริตร และอาฏานาฏิยปริตร

เมตตปริตร และขันธปริตร เน้นการเจริญเมตตาภาวนา

โมรปริตร และอาฏานาฏิยปริตร เน้นการเจริญพระพุทธคุณ

ผู้มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ ควรสวดโพชฌังคปริตร


บทสวดมนต์ทั้งหลาย มีอยู่ในหนังสือ “มนต์พิธี” ซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป และตามร้านสังฆภัณฑ์



๑. มังคลปริตร 


๒. รัตนปริตร 



๓. เมตตปริตร




๔. ขันธปริตร 


๕. โมรปริตร 


๖. ธชัคคปริตร 


๗. อาฏานาฏิยปริตร














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น